นกอีโก้ง animal43
นกอีโก้ง จังหวัดพัทลุง (view more...)
Purple Swamphen in Changwat Phatthalung
March 1999
นกอีโก้ง จังหวัดพัทลุง (view more...)
Purple Swamphen in Changwat Phatthalung
March 1999
ภาพนกอีโก้งนี้ถ่ายไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ คราวไปเยือนอุทยานนกน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ป่านฉะนี้นกอีโก้งแม่ลูกคู่นี้คงตายแล้วเกิด เกิดแล้วก็ตายไปหลายชาติแล้วมั้ง ตามป้ายประกาศในขณะนั้นกล่าว่า อุทยานนกน้ำทะเลน้อยตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบสงขลาตอนใน มีเนื้อที่ประมาณ ๒๘๕,๖๒๕ ไร่ (หวังว่าปัจจุบัน (๒๕๕๓) พื้นที่คงไม่ลดลงนะ) เป็นทะเลสาบน้ำจืด มีน้ำขังเกือบตลอดปี ความลึกเฉลี่ยโดยประมาณ ๑.๕๐ เมตร ส่วนใหญ่เป็นป่าพรุ มีป่าเสม็ดทางด้านเหนือ ป่าจูดทางทิศเหนือและตะวันออก (แปลก ด้านเหนือกับทิศเหนือไม่เหมือนกัน) บริเวณที่เป็นพื้นน้ำซึ่งมีพืชน้ำหลายชนิดขึ้นหนาแน่น เป็นที่อยู่อาศัยของนกน้ำกว่า ๑๘๐ ชนิด ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมิถุนายนจะเป็นช่วงที่มีนกหลายชนิดอพยพมาอาศัย จึงเป็นฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับการชมนก ในขณะที่ไปเยือนนั้นนกอีโก้งพบเห็นได้ง่าย เพราะมาเดินท่อม ๆ หาหอย หาปลากินตามกอพืชน้ำที่อยู่ใกล้สะพานที่ทำเป็นทางเดิน นอกจากนี้ทางอุทยานได้ทำเสาไม้ไผ่ปักเป็นแนวในน้า บนเสาแต่ละต้นจะมีนกมาเกาะจองที่อยู่แทบทุกเสา ไม่แน่ใจว่านกที่มาเกาะนั้นเป็นนกอะไร เพราะตัวเล็กและอยู่ไกลเกินไป แต่เคยเห็นนกนางนวลชอบมาแย่งกันจองเสาอย่างนี้ที่บางปู ตอนถ่ายรูปมาไม่ได้สนใจอะไรมาก สนแต่นกอีโก้งแม่ลูกเท่านั้น
คู่มือดูนกของรุ่งโรจน์ จุกมงคล ๒๕๔๔ บอกว่า นกอีโก้งเป็นพวกนกอัญชัญขนาดใหญ่ ขนที่ปกคลุมลำตัวเป็นสีน้ำเงินอมม่วงเหลือบ โคนหางด้านล่างสีขาวปากหนาใหญ่สีแดงเช่นเดียวกับหนังที่หน้าผาก หัวสีม่วง ขายาวใหญ่สีแดงอมส้มสะดุดตา ชอบส่งเสียงร้องดัง ค้อก-ค้อก แหบกระด้าง มักพบเดินหากินเป็นฝูงริมน้ำหรือบนกอพืชน้ำ และชอบกระดกหางสีขาวตลอดเวลา สามารถใช้เท้าช่วยจับอาหารขึ้นมาจิกกิน (ตอนนั้นเห็นมันจับหอยกินนะ) เป็นนกประจำถิ่น อาศัยตามทะเลสาบและหนองบึงขนาดใหญ่ ที่มีพืชน้ำลอยปกคลุมหนาแน่น นกอีโก้งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Porphyrio porphyrio
ภาพที่นำมาให้ชมเป็นภาพนกอีโก้งแม่ลูก ภาพพืชน้ำ ภาพศาลากลางน้ำ สะพานทางเดินเชื่อมฝั่งและศาลากลางน้ำ คนขับเรือในบึง และแถวของเสาไม้กลางน้ำที่มีนกเกาะ