แมวในซอย animal37
วงศาคณาญาติ (แมวฯ) กรุงเทพมหานคร (ตอนที่ ๒๗ ของฝากจากสุพรรณบุรี)
Cat's relative in Bangkok (view more...)
(July 2011)
วงศาคณาญาติ (แมวฯ) กรุงเทพมหานคร (ตอนที่ ๒๗ ของฝากจากสุพรรณบุรี)
Cat's relative in Bangkok (view more...)
(July 2011)
ของฝากของแมวในซอยตอนนี้ไม่มีตัวตนให้เห็น จะจะ มีแต่ร่องรอยที่เจ้าตัวเล็กขนฟูทำทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้าเป็นประจักษ์พยานบนต้นมะพร้าว คิดว่าเป็นเช่นนั้นนะ เจ้าของต้นมะพร้าวคงไม่เสียเวลาใช้บันไดพาดปีนขึ้นไปทำรังให้กระรอกหรือกระแตนอนบนต้นที่สูงอย่างนั้น แต่ถ้าทำจริงก็นับถือว่าเป็นผู้ที่มีเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะสู้อุตส่าห์เสียเวลาทำให้ ทำแล้วเจ้ากระรอกหรือกระแตน้อยจะพอใจยอมมาอยู่อย่างที่ตั้งใจทำให้หรือไม่ก็ยังไม่รู้อีก แต่พิจารณาดูแล้วคิดว่าน่าจะเป็นรอยแทะเพื่อเปิดกินน้ำมะพร้าวมากกว่า ของฝากชิ้นนี้พบโดยบังเอิญในบ้านข้างร้านอาหารใหญ่ร้านหนึ่งที่สุพรรณบุรี เห็นตอนนั่งรับประทานอาหาร และไปถ่ายรูปมาตอนทำทีไปห้องน้ำ (ห้องน้ำอยู่ไกล้ ๆ กับรั้วบ้านที่ต้นมะพร้าวต้นนี้ขึ้นอยู่นั่นเอง) ที่ตรงนั้นปลอดคนนิดหน่อยเลยได้ถ่ายรูปมาโดยไม่เป็นที่สังเกตของใคร ๆ และไม่ได้ขออนุญาติใครด้วย (โดยเฉพาะเจ้าของบ้านหลังนั้น) เสียดายอยู่อย่างเดียวเจ้าของผลงานไม่อยู่ให้ถ่ายรูปมาด้วย ที่บ้านก็มีกระรอกตัวสีขาว ๆ เหมือนกัน ชอบวิ่งไต่สายโทรศัพท์มาแทะลูกมะม่วงสุกข้างบ้าน ซึ่งดกมากทุกปี แต่เจ้าของไม่ยอมมาอยู่เสียที กระรอกและเพื่อนบ้าน (คน) จึงกินมะม่วงกันอย่างสนุกสนานทุกปีไป ขอผลบุญจงสนองตอบแก่เจ้าของต้นมะม่วงด้วย เทอญ
ตามเคยที่เว็บนี้ชอบคือ ต้องมีเรื่องวิชาการแทรกอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้น จึงต้องบอกว่า มะพร้าวเป็นไม้ต้น พรรณปาล์มจากต่างประเทศ อยู่ในวงศ์ Palmae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cocos nucifera Linn. มีชื่อพื้นเมืองว่า หมากอูน หมากฮุน
และย่อ (ภาคใต้) ส่วนกระรอกและกระแตเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม กระแตจัดอยู่ในวงศ์ Tupaiidae ส่วนกระรอกจัดอยู่ในวงศ์ Sciuridae ทั้งสองวงศ์เป็นสัตว์ฟันแทะหรือสัตว์กัดแทะ (rodent) วงศ์ของกระแตไม่มีวงศ์ย่อย แต่วงศ์ของกระรอกแบ่งออกได้เป็น ๒ วงศ์ย่อย คือ วงศ์ย่อยกระรอก (Sciurinae) ซึ่งหากินกลางวัน และวงศ์ย่อยกระรอกบิน (Petauristinae) ซึ่งหากินกลางคืน กระรอกนี้จะมีแผ่นหนังเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง เมื่อกางขาหน้าและหลังออกจะมีลักษณะคล้ายปีก ใช้ร่อนจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นไม้อีกต้นหนึ่งที่อยู่ไกล ๆ ได้ ดูเสมือนบินไป จึงได้ชื่อว่า กระรอกบิน
ข้อมูลพืชจากพจนานุกรมสัตว์และพืชในเมืองไทยของวิทย์ เที่ยงบูรณธรรม พ.ศ. ๒๕๓๗ ส่วนข้อมูลสัตว์จาก คู่มือธรรมชาติสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยของจอห์น พาร์ แปลโดยธีรภัทร ประยูรสิทธิ พ.ศ. ๒๕๔๖