โบราณสถานวัดเจ้าจันทร์ central46
โบราณสถานวัดเจ้าจันทร์ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (view more...) Ancient Monuments in Wat Chao Chan Si Satchanalai Historical Park Changwat Sukhothai June 2012
โบราณสถานวัดเจ้าจันทร์ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (view more...) Ancient Monuments in Wat Chao Chan Si Satchanalai Historical Park Changwat Sukhothai June 2012
วัดเจ้าจันทร์ ตั้งอยู่ด้านหลังของวัดชมชื่น (ceatral45) เป็นศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมที่ตั้งอยู่ตอนเหนือสุดของประเทศไทย โดยมีประวัติเป็นศาสนสถานที่มีอายุเก่าแก่กว่าสมัยสุโขทัย กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ร่วมสมัยกับศิลปะขอมแบบบายน สิ่งสำคัญภายในวัดประกอบด้วย ปรางค์ประธานศิลปะขอมก่อด้วยก้อนศิลาแลงขนาดใหญ่และมีปูนฉาบประดับตกแต่งผิว ฐานชั้นล่างสุดเป็นชุดบัวคว่ำ-บัวหงาย ที่เรือนธาตุมีซุ้มประกอบทั้งสี่ด้าน ด้านหน้ามีห้องสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ ส่วนด้านอื่น ๆ ตกแต่งเป็นประตูหลอก ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวเชิงบาตร ประดับด้วยกลีบขนุน ๕ ชั้น ยอดปราสาทเป็นจอมโมฬีประดับด้วยบัวกลุ่ม ต่อมาในสมัยสุโขทัย ศาสนสถานแห่งนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนา โดยการถมบริเวณโดยรอบของฐานปรางค์ปราสาท ทำให้ฐานชุดบัวคว่ำ-บัวหงายจมอยู่ใต้ดิน แล้วจึงสร้างวิหารศิลาแลงขึ้นที่ด้านหน้าของปรางค์ปราสาทพร้อมกับมณฑปศิลาแลงสำหรับประดิษฐานพระอัฏฐารศขึ้นทางทิศเหนือของปรางค์ ในมณฑปมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปยืนพระหัตถ์แนบลำพระองค์ ๑ องค์ หลังคาที่เป็นเครื่องไม้ได้ผุพังไป พบเพียงชิ้นส่วนของกระเบื้องดินเผาสำหรับมุงหลังคาตกกระจายอยู่โดยรอบ กรมศิลปากรได้ขุดพบพระพิมพ์ทำด้วยชิน ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ และเมื่อขุดลึกลงไปอีกในระดับลึกพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เครื่องถ้วยหริภุณไชย ลูกปัดแก้ว และชิ้นส่วนโครงกระดูกคน วัดเจ้าจันทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทอดพระเนตร ตามปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์ เที่ยวเมืองพระร่วง (ข้อมูลจากป้ายคำบรรยาย และหนังสือนำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ของกรมศิลปากร ๒๕๕๓)