ตะแบกนา nature121
ตะแบกนา จังหวัดลพบุรี
Lagerstroemia in Changwat Lop Buri
(May 1999)
ตะแบกนา จังหวัดลพบุรี
Lagerstroemia in Changwat Lop Buri
(May 1999)
ตะแบกนา ไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง ๑๕-๓๐ เมตร โคนต้นพูพอน (โคนต้นเป็นครีบหรือเป็นปีก thaiphotosite ว่าเอง) เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกต้นเกลี้ยงสีนวลเป็นมัน ใบเดี่ยวรูปหอก ยาว ๑๒-๒๐ เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกบานขนาด ๒-๒.๕ เซนติเมตร กลีบดอกบานย่นสีม่วงอมชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีซีด ผลรูปไข่ ผลแก่สีน้ำตาลแตกอ้าเป็น ๕-๖ กลีบ เมล็ดแบบสีน้ำตาลเป็นปีก ออกดอกระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม มีถิ่นกำเนิดที่มาเลเซีย ขึ้นตามป่าเบญจพรรณแทบทุกภาคและตามทุ่งนาทั่วไป ตะแบกนาจัดอยู่ในวงศ์ Lythraceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lagerstroemia floribunda Jack (พรรณไม้ในสวนหลวง ร.๙)
ดอกตะแบกนาที่ถ่ายมานี้จำได้ว่าขึ้นอยู่ในป่า ติด ๆ กับท้องนา น่าจะเป็นไม้ป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เห็นดอกสีสวย กิ่งเตี้ย ๆ ก็เลยบันทึกภาพไว้ตามประสาคนมือบอน แต่ไม่ได้บันทึกภาพของต้นเอาไว้ด้วยเพราะความงก กลัวเปลืองฟิล์ม เลยมีรูปเดียว แต่ต้นตะแบกเราพบทั่วไปตามท้องถนนหลายสายในกรุงเทพฯ กทม. ท่านปลูกเอาไว้หลายปีมาแล้ว น่าจะเกินสิบปี ตะแบกเป็นไม้โตช้า จึงมักเห็นเป็นต้นขนาดเล็กอยู่ตลอด โคนต้นพูพอนจึงไม่เคยเห็น นอกจากตะแบกแล้ว กทม. ท่านยังปลูกเสลาและอินทนิลด้วย หน้าร้อนทีไร ทั้งสามต้นต่างก็ออกดอกสีม่วงสวยกันไปคนละแบบ ดอกตะแบกสวยหวานออกช่อสั้น ๆ ไปตามตามกิ่ง อินทนิลดอกสีม่วงอมชมพูเข้ม ดอกออกเป็นช่อแหลม ๆ ส่วนเสลาไม่ค่อยรู้จักเท่าไร ไม่กล้าพูด
ตะแบกนา ท่านวิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ท่านเขียนไว้ว่า ชื่อพื้นเมืองมีหลายชื่อ เปื๋อยห่างค่าง (ของชาวแพร่) ตะแบกไข่ (ของชาวราชบุรี) เปื๋อยนา (ของชาวลำปาง) และบางอตะมะกอ (ของชาวใต้) ใครชอบชื่อไหนก็เลือกเอาตามถนัดนะ ท่านบอกอีกว่า พืชในสกุลตะแบก (Lagerstroemia) มีหลายชนิด ตะแบก ตะแบกเกรียบ ตะแบกดง ตะแบกแดง ตะแบกนา ตะแบกนาของชาวเพชรบุรี ตะแบกใบเล็ก และตะแบกเปลือกบาง ทั้งหมดเป็นพรรณไม้ยืนต้นเหมือนกันหมด