ปาล์มเจ้าเมืองถลาง nature94
ปาล์มเจ้าเมืองถลาง กรุงเทพมหานคร (view more...)
King Thai palm in Bangkok
(July 2011)
ปาล์มเจ้าเมืองถลาง กรุงเทพมหานคร (view more...)
King Thai palm in Bangkok
(July 2011)
ปาล์มเจ้าเมืองถลาง เป็นปาล์มสกุลเดียวและชนิดเดียวของโลก มีถิ่นกำเนิดที่จังหวัดภูเก็ต พบในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ แต่มาสามารถจัดจำแนกชนิดจนทราบว่าเป็นสกุล (genus) และชนิด (species) ใหม่ของโลก โดยผลการศึกษาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารพฤษศาสตร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ (ค.ศ. ๑๙๘๓) ได้ตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Kerriodosa elegans Dransfield ซึ่งชื่อสกุลตั้งเป็นเกียรติแก่ Dr. A.F.G. Kerraz นักพฤษศาสตร์ผู้ค้นพบปาล์มชนิดนี้เป็นคนแรกในครั้งศึกษาพรรณไม้ของไทยในระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๓๒ ปาล์มสกุลนี้มีเพียงชนิดเดียว คือชนิด elegans จัดเป็นพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทยและของโลก เป็นพรรณไม้หาได้ยากตามธรรมชาติ เป็นต้นไม้แยกเพศ แบ่งเป็นต้นเพศผู้และต้นเพศเมีย แถมดอกยังบานไม่พร้อมกันอีกด้วย
ปาล์มเจ้าเมืองถลางเป็นปาล์มลำต้นเดี่ยว ไม่มีหน่อ ลำต้นสูง ๓-๔ เมตร ก้านใบกลมเกลี้ยงเป็นมัน สีดำ ยาว ๒-๓ เมตร ใบเป็นรูปพัดกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ เมตร ปลายใบโดยรอบเป็นแฉกละเอียด เนื้อใบบาง ด้านบนมีสีเขียวอ่อนเป็นมันส่วนด้านล่างเป็นสีเงิน ออกผลเป็นทะลายสั้น ๆ ที่โคนกาบล่าง มีขนาดเท่าลูกหมากย่อม ๆ สีเหลือง ชอบที่ร่มชื้น ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อพื้นเมือง ปาล์มเจ้าเมืองถลาง ปาล์มหลังขาว ทังหลังขาว ชิงหลังขาว (เปิดดูในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน คำว่าทัง เป็นชื่อต้นไม้ ส่วนคำว่า ชิง เป็นภาษาใต้หมายถึงต้นกะพ้อ) มีชื่อสามัญ White elephant palm และ King Thai palm (ข้อมูลจาก พรรณไม้ในสวนหลวง ร.๙ ๒๕๓๙ และประวัติจาก phuketdata.net และ akitia.com)
มีปาล์มอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะใบเหมือนกัน คือ ปาล์มเจ้าเมืองตรัง เป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย พบที่จังหวัดตรัง แต่ปัจจุบันไม่พบในธรรมชาติแล้ว ปาล์มชนิดนี้ต่างกันกับปาล์มเจ้าเมืองถลาง คือ ก้านใบมีหนาม (เว็บ dnp.go.th)