ว่านงาช้าง nature101
ว่านงาช้าง กรุงเทพมหานคร (view more...)
Sansevieria sp. in Bangkok
(July 2011)
ว่านงาช้าง กรุงเทพมหานคร (view more...)
Sansevieria sp. in Bangkok
(July 2011)
ว่านงาช้างต้นนี้ปลูกมานานมาก น่าจะเกิน ๑๐ ปี นำไปไว้ใกล้กับต้นเพชรสังฆาตก็เลยถูกต้นเพชรสังฆาตคลุมเสียจนเกือบมิด เพิ่งไปยื้อออกมา แต่เดิมลำต้นไม่งอเช่นที่เห็นนี้ เป็นเพราะว่านำกระถางไปตั้งไว้ในทางเดินที่แคบ ๆ การไปก้ม ๆ เงย ๆ ดูโน่นดูนี่ใกล้ ๆ ไม่ปลอดภัยแก่ดวงตานัก เกรงลำต้นยาว ๆ แหลม ๆ ของเธอจะจิ้มตา ก็เลยบังคับให้ลำต้นม้วนงอเอาปลายแหลมหลบให้พ้นทาง ลำต้นที่ควรจะตั้งตรงก็เลยคดงอด้วยประการฉะนี้ หลังจากถ่ายภาพแล้วก็คงจะต้องมัดตราสังข์ไม่ให้ลำต้นยื่นออกมาระเกะระกะ และคงจะต้องรอสักพักจนกว่าจะหาที่ที่เหมาะสมได้ ต้องคิดนานเพราะหนักมาก
ข้อมูลที่มีในมือ ว่านของเศรษฐมันตร์ กาญจนกุล ๒๕๕๓ และพจนานุกรมสัตว์และพืชฯ ของวิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ๒๕๓๗ รวมทั้งได้เปิดดูจากเว็บ thaibiodiversity ของกรมวิชาการเกษตรให้ข้อมูลอนุกรมวิธานขั้นวงศ์ของว่านงาช้างไม่เหมือนกัน ๒ ท่านแรกให้อยู่ในวงศ์ Agavaceae ส่วนท่านหลังให้อยู่ในวงศ์ Dracaenaceae ไม่ทราบว่าผิดถูกอย่างไร แต่ thaiphotosite ถือเอาของ ๒ ท่านแรก คือให้อยู่ในวงศ์ Agavaceae สำหรับชื่อวิทยาศาสตร์นั้น ท่านที่หนึ่งให้ชื่อ Sansevieria stuckyi God.-Leb โดยมีรูปให้ดูเปรียบเทียบ ท่านที่สองและสามให้ชื่อ Sansevieria cylindrica Bojer แต่ไม่มีรูปให้ดูเลย ดูในรูปของท่านที่หนึ่ง ลำต้นแตกออกในลักษณะเป็นแนวตรง ของที่มีไม่แน่ใจเพราะอยู่ในกระถางแคบ ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยให้แตกกอได้ตามใจชอบ ลายก็ไม่แจ่มชัดตลอดลำต้นเช่นในรูป ลำต้นน่าจะยาวเกินกว่า ๖๐ เซนติเมตร ดังนั้นจึงฟันธงว่าเป็น Sansevieria cylindrica Bojer และมีชื่อพื้นเมืองอีกชื่อหนึ่งตามท่านสองว่า ว่านงู
กาญจนกุล กล่าวว่า ว่านงาช้างเป็นไม้ล้มลุกลำต้นอยู่ใต้ดิน มีอายุหลายปี ความสูง ๔๐-๖๐ เซนติเมตร โผล่ขึ้นมาจากใต้ดินเหมือนงาช้าง ลักษณะเป็นพุ่มไม่มีกิ่งก้านสาขา ดอกโผล่ออกมาจากเหง้าขึ้นมาตั้งตรง ดอกสีขาวมีกลิ่นหอม ปลูกไว้ในบ้านจะช่วยป้องกันภัยร้ายทั้งมวล มีสรรพคุณ เช่น น้ำคั้นจากรากใช้เป็นยาเบื่อพยาธิและรักษาริดสีดวงงอกได้ดี ว่านต้นนี้อาจจะไม่มีสรรพคุณเหมือนอย่างนี้ เพราะเป็นคนละชนิด (species) กัน