ชบาหนู nature160
ชบาหนู จังหวัดสมุทรสงคราม (view more...)
Marvaviscus in Changwat Samut Songkhram
November 2011
ชบาหนู จังหวัดสมุทรสงคราม (view more...)
Marvaviscus in Changwat Samut Songkhram
November 2011
ภาพถ่ายของดอกชบาหนู ถ่ายไว้ตั้งแต่คราวหนีน้ำท่วม กทม. ไปอยู่สมุทรสงคราม แต่เพราะความที่ไม่รู้ว่าชื่ออะไรเลยเก็บไว้ก่อน วันนี้รู้แล้วว่า เธอชื่อชบาหนู โดยพบใน Flower Note Book เก่าแก่ตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ ไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นคนจัดพิมพ์ขาย จะให้เครดิตเสียหน่อยเลยให้ไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะได้ฉีกส่วนอื่น ๆ ทิ้งไปหมดแล้ว เหลือแต่ปกและภาพ ดูรูปเทียบกับรูปที่ถ่ายมาจากสมุทรสงครามแล้ว เหมือนกันเปี๊ยบเลย คำบรรยายในสมุดภาพระบุสั้น ๆ ว่า "ชบาหนู ชื่อวิทยาศาสตร์ Malvaviscus arborens เป็นไม้กึ่งเลี้อย ต้องการหลักสำหรับอิง ออกดอกตลอดปี"
คราวนี้มาดูในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕ ชบาหนู "เป็นชื่อไม้พุ่ม ๒ ชนิดในสกุล Malvaviscus วงศ์ Malvaceae ลักษณะคล้ายดอกชบาแต่เล็กกว่าและไม่บาน มีชนิดดอกตั้งเรียก M. grandiflora H.B.K. และชนิดดอกห้อยลงเรียก M. conzattii Greenm." ตรงข้อความที่ว่า "ดอกคล้ายชบาแต่เล็กกว่าและไม่บาน" นี่แหละ ทำให้งง ดอกไม่บาน? แล้วดอกจะเป็นอย่างไร? และเพราะไม่มีรูปประกอบ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ชบาหนูในภาพถ่าย ที่เห็นดอกบานแฉ่งออกอย่างนั้น จะเป็นชนิดใดชนิดหนึ่งในนี้ได้หรือไม่? แต่ที่แน่ ๆ เป็นสกุลเดียวกันกับชบาหนูในสมุดภาพ
คราวนี้ลองมาดูในพจนานุกรมสัตว์และพืชในเมืองไทยของเที่ยงบูรณธรรม ๒๕๓๙ กันบ้าง "ชบาหนูเป็นพรรณไม้พุ่มจากต่างประเทศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Malvaviscus pilosus DC." ชื่อที่ว่านี้ ก็ไม่เหมือนทั้งชื่อชนิดในพจนานุกรมเล่มแรก และในสมุดภาพ หน้าตาก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรอีก เพราะไม่มีภาพประกอบ แต่ที่แน่ ๆ (อีกครั้ง) สกุลเดียวกัน Malvaviscus
สรุป ขอเอาชื่อวิทยาศาสตร์ตามสมุดภาพ Malvaviscus arborens แม้จะเป็นชื่อที่ยังไม่ครบสมบูรณ์เพราะขาดชื่อคนตั้งต่อท้าย แต่เพราะมีรูปประกอบที่มีลักษณะเหมือนกันจึงยึดถือเอาไว้ก่อน จนกว่าจะได้ข้อมูลมากกว่านี้